วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2552

หลักการคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และการประมวลผลอิเลคโทรนิค

หลักการคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และการประมวลผลอิเลคโทรนิค
อ. จิดาภัส สัมพันธ์สมโภช
อ. ชัยยงค์ อู่ประสิทธิวงศ์
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้จัดแบ่งคอมพิวเตอร์ตามความสามารถในการต่อพ่วงกับอุปกรณ์ภายนอกเพิ่มเป็น สถานีงานวิศวกรรม (Engineering Workstation) คือ คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ไดรับการออกแบบมาให้ทำงานด้านวิศวกรรม หรืองานคำนวณที่ต้องการความเร็วสูงมาก คำว่า “สถานีงาน” มีความหมายว่า เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีอุปกรณ์ต่าง ๆ ประกอบพร้อมให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานต่าง ๆ ได้ครบโดยไม่ต้องไปใช้อุปกรณ์ในห้องอื่น ๆ สถานีงานที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบันคือ เครื่อง Sun ของบริษัท Sun Micro systems เครื่อง SGI ของบริษัท Silicon Graphics เครื่อง RISC/6000 บางรุ่นของบริษัท IBM เครื่องประเภทสถานีงานเคยได้รับความนิยมมากเมื่อหลายปีก่อน ในช่วงที่มีมินิคอมพิวเตอร์ยังมีราคาแพงเกินไป ส่วนไมโครคอมพิวเตอร์ก็มีสมรรถนะต่ำเกินไป ปัจจุบันผู้ผลิตเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์สามารพัฒนาเครื่องให้มีสมรรถนะมากขึ้นจนเท่าเทียมกับสถานีงาน ดังนั้นผู้ผลิตจึงเริ่มเปลี่ยนไปผลิตเครื่องสถานีงานที่มีสมรรถนะมากขึ้นไปแทน

องค์ประกอบของระบบคอมพิวเตอร์
องค์ประกอบพื้นฐานที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานได้ ประกอบด้วย
1. ฮาร์ดแวร์ (Hardware)
2. ซอฟต์แวร์ (Software)
3. บุคลากร (Peopleware)

ฮาร์ดแวร์ (Hardware)
หมายถึงอุปกรณ์ด้านตัวเครื่องต่าง ๆ เช่น จอภาพ (Monitor) หน่วยประมวลผล (CPU) แป้นพิมพ์ (Keyboard) เครื่องพิมพ์ (Printer) เป็นต้น
โดยทั่วไปส่วนประกอบด้านฮาร์ดแวร์ ประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ ดังนี้
1. หน่วยรับข้อมูล (Input Unit)
2. หน่วยประมวลผลกลาง (Central Processing Unit)
2.1 หน่วยความจำหลัก (Main Processing Unit)
2.2 หน่วยควบคุม (Control Memory Unit)
2.3 หน่วยคำนวณและเปรียบเทียบ (Arithmetic and Logic Unit)
3. หน่วยความจำสำรอง (Auxiliary or secondary Storage Unit)
4. หน่วยแสดงผล (Output Unit)


รูปที่ 3.4 ส่วนประกอบด้านฮาร์ดแวร์ของเครื่องคอมพิวเตอร์

1. หน่วยรับข้อมูล (Input Unit)
ทำหน้าที่รับข้อมูลจากสื่อนำเข้า (Input Media) แล้วส่งไปหน่วยความจำหลัก (Main Memory) ซึ่งอยู่ในหน่วยประมวลผลกลาง อุปกรณ์ที่ใช้เป็นหน่วยรับข้อมูล ตัวอย่างเช่น
1. แป้นพิมพ์ (Keyboard)
2. เม้าส์ (Mouse)
3. ปากกาแสง (Light Pen)
4. เครื่องอ่านรหัสแท่ง (Barcode Reader)
5. เครื่องสแกนเนอร์ (Scanner)
6. เครื่องอ่านพิกัด (Digitizer)
7. เครื่องอ่านเอ็มไอซีอาร์ (MICR : Magnetic Ink Character Reader)
8. เครื่องโอซีอาร์ (OCR : Optical Character Reader)

แป้นพิมพ์ (Keyboard)
ใช้สำหรับป้อนข้อมูลไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ แป้นพิมพ์สำหรับคอมพิวเตอร์จะถูกจัดเป็น 3 กลุ่ม ตรงกลางมีลักษณะเหมือนแป้นพิมพ์ดีดธรรมดา (Typewriter Keyboard) ทางขวาเป็นตัวเลขและลูกศรขึ้นลงซ้ายขวา (Number Keypad & Arrow Keys) ส่วนบนหรือทางซ้ายจะเป็นฟังก์ชั่นคีย์ (Function Keys) ซึ่งปฏิบัติการของฟังก์ชันคีย์สามารถโปรแกรมได้


รูปที่ 3.5 แป้นพิมพ์

เม้าส์ (Mouse)
เป็นอุปกรณ์ป้อนข้อมูลโดยการเลื่อนไปมาเพื่อเลือกคำสั่งต่าง ๆ ที่เห็นอยู่ทางจอภาพ เมื่อนำเม้าส์ต่อเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ จะต้องเรียกโปรแกรมเซ็ทเม้าส์ เพื่อให้สามารถใช้เม้าส์กับระบบคอมพิวเตอร์นั้น ๆ ได้ เช่น ๆ Microsoft Mouse, PS/2 Mouse ปัจจุบันใช้เม้าส์ร่วมกับแอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ที่ติดต่อกับผู้ใช้ในแบบกราฟิคบนเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ กันมาก ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม Windows, OS/2 หรือแมคอินทอชเพราะช่วยให้ผู้ใช้สะดวกขึ้น ไม่ต้องจดจำคำสั่ง









รูปที่ 3.6 อุปกรณ์เม้าส์

ปากกาแสง (Light Pen)
ใช้ป้อนข้อมูลผ่านทางหน้าจอ โดยการชี้ไปยังเมนูที่ต้องการหรือลากไปบนจอภาพ นำไป ใช้กับงานด้านกราฟิก













รูปที่ 3.7 อุปกรณ์ปากกาแสง

เครื่องอ่านรหัสแท่ง (Barcode Reader)
เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้อ่านรหัสแท่งที่ติดบนสลากสินค้า บนบัตรประตัวพนักงาน หรือพัสดุอื่น ๆ เครื่องอ่านรหัสแท่งหลายลักษณะ เช่น ที่ใช้ตามห้างสรรพสินค้า อาจเป็นโต๊ะที่ผิวหน้าเป็นกระจกและมีแสงส่องขึ้นมาจากข้างใน หรือเป็นเครื่องอ่านลักษณะคล้ายปืนสำหรับส่องรหัส หรืออาจเป็นกล่องเล็ก ๆ และมีร่องสำหรับใช้รูดลบัตรที่ติดรหัสแท่งก็ได้








รูปที่ 3.8 เครื่องอ่านรหัสแท่งแบบต่าง ๆ

เครื่องสแกนเนอร์ (Scanner)
เป็นอุปกรณ์สำหรับรับข้อมูลที่เป็นภาพเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์โดยตรง ภาพที่อ่านได้เรียกว่า ภาพลักษณ์ (Image) ซึ่งคอมพิวเตอร์จะเห็นเหมือนกับเป็นจุดสีขาวดำ (หรือจุดสีต่าง ๆ) ไม่ได้เห็นเป็นตัวอักษร หากต้องการให้คอมพิวเตอร์รู้ตัวอักษรที่อ่านต้องมีโปรแกรมสำหรับแปลงภาพลักษณ์นั้นเป็นตัวอักษรอีกทีหนึ่ง โปรแกรมนี้เรียกว่าโปรแกรมรับรู้อักขระด้วยแสง

เครื่องอ่านพิกัด (Digitizer)
เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้อ่านพิกัดของแผนที่ รูปร่างเหมือนแผ่นกระดานสี่เหลี่ยมสำหรับใช้ตรึงแผนที่ แล้วมีอุปกรณ์ลักษณะเหมือนแว่นขยายพร้อมปุ่มกด สำหรับเลื่อนไปวางบนตำแหน่งที่ต้องการอ่านพิกัดแล้วกดปุ่ม เครื่องจะอ่านพิกัด หรือตำแหน่งของจุดนั้นได้โดยอัตโนมัติ






รูปที่ 3.9 เครื่องอ่านพิกัด (Digitizer)

เครื่องอ่านเอ็มไอซีอาร์ (MICR : Magnetic Ink Character Reader)
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้อ่านข้อมูล หรือตัวพิมพ์ที่พิมพ์ด้วยสารแม่เหล็กชนิดพิเศษ นำมาใช้อ่านเช็คสำหรับงานการธนาคาร โดยอ่านหมายเลขเช็ค เลขที่บัญชี และจำนวนเงิน

เครื่องอ่านโอซีอาร์ (OCR : Optical Character Reader)
เป็นอุปกรณ์การอ่านข้อมูลโดยผ่านลำแสงบนเอกสารที่มีข้อมูลอยู่ แล้วแปลงรหัสเป็นสัญญาณไฟฟ้าเข้าไปเก็บในเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องอ่านโอซีอาร์สามารถอ่านข้อมูลได้จาก
1. ลายมือเขียนที่เป็นตัวอักษรและตัวเลข แต่ความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้ กรณีตัวอักษรที่เขียนไม่ชัดเจน หรือตัวอักษรที่เขียนออกมาแล้วมีลักษณะคล้ายกันมาก เช่น 1 กับ 4
2. ตัวพิมพ์มาตรฐานกำหนดโดย American National Standard Institute (ANSI)
3. รูปแบบ Mark Sense คืออ่านจากเครื่องหมายต่าง ๆ เช่น Slash (/) บน Mark Sense Form นำมาใช้ในงานตรวจกระดาษคำตอบแบบปรนัย โดยกระดาษคาตอบจะถูกออกแบบโดยเฉพาะ เครื่องอ่านโอซีอาร์แบบนี้ถูกนำมาดัดแปลง และเรียกอีกชื่อว่า โอเอ็มอาร์ (OMR : Optical Mark Reader)

































รูปที่ 3.11 ตัวอย่าง Mark Sense Form
2. หน่วยประมวลผลกลาง (Central Processing Unit หรือ CPU)
ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ
2.1 หน่วยความจำหลัก (Main Memory Unit)
ทำหน้าที่จำข้อมูลต่าง ๆ และรับผลลัพธ์จากการคำนวณในหน่วยคำนวณและเปรียบเทียบมาเก็บไว้ หน่วยความจุข้อมูลเทียบได้ดังนี้ 1 KByte = 1024 Bytes, 1 Byte = 1 Character (หรือ = 1 ตัวอักษร) จากเทคโนโลยีในการพัฒนาหน่วยความจำหลัก เราสามารถจำแนกชนิดของหน่วยความจำหลักได้ดังนี้
1. ROM (Read Only Memory) เป็นอุปกรณ์เก็บคำสั่งต่าง ๆ ที่ติดมากับเครื่องตอนเราซื้อ ข้อมูลที่บรรจุใน ROM ส่วนใหญ่เป็นโปรแกรมควบคุมการทำงานของเครื่อง (Operating System) ทั้งนี้เพื่อทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ผู้ใช้อ่านข้อมูลหรือเรียกใช้งานจาก ROM ได้อย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลต่าง ๆ ใน ROM ได้
การบรรจุคำสั่งหรือข้อมูลลงบนชิพ (Chip) หรืออุปกรณ์ในหน่วยความจำนี้ เรียกอุปกรณ์เหล่านี้ว่า Firmware
2. RAM (Random Access Memory) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เก็บชุดคำสั่ง หรือข้อมูลตามชนิดของงานที่ต้องการ ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลบน RAM ได้
3. PROM (Programmable Read Only Memory) เป็นอุปกรณ์ที่ยังไม่ได้มีการเก็บข้อมูลไว้ ผู้ใช้สามารถเก็บข้อมูลที่ต้องการของตนเอง เมื่อบันทึกข้อมูลเข้าไปแล้วผู้ใช้สามารถอ่านข้อมูลหรือเรียกใช้งานได้อย่างเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลต่าง ๆ ได้
4. EPROM (Erasable Programmable Read Only Memory) เป็นอุปกรณ์หน่วยความจำที่ผู้ใช้สามารถเก็บข้อมูลที่ต้องการหรือบันทึกลงไปใหม่ได้ และสามารถลบข้อมูลได้โดยวิธีนำไปผ่านแสงอุลตราไวโอเลต

2.2 หน่วยควบคุม (Control Unit)
มีหน้าที่หลัก ดังนี้
1. ควบคุมการทำงานของหน่วยรับข้อมูลและหน่วยแสดงผลลัพธ์ (I/O Control) โดยทำหน้าที่ดังนี้
1.1 ทำการอ่านคำสั่ง (Read Instruction)
1.2 ทำการแปลความหมาย (Decode) พร้อมหาวงจรที่จะใช้ในการทำงาน
1.3 สั่งให้วงจรทำงาน (Execute)
1.4 ควบคุมให้ส่งข้อมูลไปเก็บในหน่วยความจำ (Stored)
2. ควบคุมการทำงานของวงจรอื่นที่เกี่ยวข้องทุกวงจร รวมทั้งวงจรในหน่วยคำนวณและเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นผลมาจากการรับข้อมูลในข้อ 1.
3. ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างฮาร์ดแวร์กับโปรแกรมควบคุมระบบ(System Software)
4. ทำหน้าที่ควบคุมและจัดการเกี่ยวกับการถูกขัดจังหวะต่าง ๆ ของเครื่อง (Machine Interruption)

2.3 หน่วยคำนวณและเปรียบเทียบ (Arithmetic and Logic Unit)
ทำหน้าที่รับข้อมูลจากหน่วยความจำมาทำการคำนวณ ( + - x / ) หรือทำการเปรียบเทียบ (AND OR NOT) และนำผลที่ได้จากการคำนวณไปเก็บไว้ชั่วคราวที่รีจีสเตอร์ (Register)
รีจีสเตอร์ (Register) เป็นเนื้อที่ในหน่วยความจำสำหรับเก็บผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณหรือเปรียบเทียบเป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะถูกนำไปใช้งานต่อไป

3. หน่วยความจำสำรอง (Auxiliary or Secondary Storage Unit)
ทำหน้าที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยความจำหลัก การเรียนข้อมูลจากหน่วยความจำสำรอง ทำได้ช้ากว่าจากหน่วยความจำหลัก เพราะติดตั้งอยู่นอก CPU เชื่อมต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยสายไฟ หน่วยความจำสำรองมีราคาถูกกว่าหน่วยความจำหลัก สามารถขยายเพิ่มได้ตามต้องการ ตัวอย่างอุปกรณ์หน่วยความจำสำรอง เช่น
1. จานแม่เหล็ก (Magnetic Disk)
2. เทปแม่เหล็ก (Magnetic Tape)
3. แผ่นดิสเก็ท (Diskette)
4. แผ่น CD-ROM
5. ไมโครฟิล์ม (Microfilm)

จานแม่เหล็ก (Magnetic Disk)
เป็นทั้งสื่อนำข้อมูลเข้าและสื่อนำผลลัพธ์ออก (Input / Output Media) มีความเร็วสูงสุดในการอ่านและบันทึกข้อมูล ปกติจานแม่เหล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 14 นิ้ว เป็นแผ่นกลมบางเคลือบด้วยสารแม่เหล็กทั้ง 2 หน้า ชุดจานแม่เหล็ก (Disk Pack) ชุดหนึ่ง จะมีจานแม่เหล็ก 6-11 แผ่น วางซ้อนกัน โดยยึดติดกับแกนตรงกลาง แต่ละแผ่นสามารถเก็บข้อมูลได้ทั้ง 2 หน้า ยกเว้นหน้าบนของแผ่นบนสุดกับหน้าล่างของแผ่นล่างสุด นั่นคือถ้าชุดจานแม่เหล็ก 11 แผ่น ก็จะใช้เก็บข้อมูลได้ 20 หน้า หรือชุดจานแม่เหล็ก 6 แผ่น ก็จะใช้เก็บข้อมูลได้ 10 หน้า จะมีหัวอ่านเขียน (Read / Write Head) ที่ติดอยู่ปลายแขนแท่งโลหะสำหรับทำหน้าที่อ่านหรือบันทึกข้อมูล
แต่ละหน้าของจานแม่เหล็กแบ่งเป็นวง ๆ เรียกว่า แทรค (Track) มีจำนวน 200 แทรค ต่อหน้าเริ่มจาก แทรคที่ 000 ถึง 199 ไม่ว่าแทรควงในสุดหรือวงนอกสุด จะสามารถเก็บข้อมูลได้กันทุกแทรค ในแต่ละแทรคที่ตรงกันของทุก ๆ หน้า เรียกว่า ไซลินเดอร์ (Cylinder) เช่น แทรคที่ 199 จากแผ่นบนลงมาถึงแผ่นล่างในแนวตั้งรวมกันเรียก ไซลินเดอร์ และในแต่ละแทรคยังแบ่งเป็น เซคเตอร์ (Sector) ดังนั้นการระบุตำแหน่งข้อมูลในจานแม่เหล็ก จะระบุถึงหมายเลขหน้า หมายเลขแทรค และหมายเลขเซคเตอร์ จานแม่เหล็กแบ่งเป็นชนิดเคลื่อนย้ายได้กับชนิดเคลื่อนย้ายไม่ได้
จานแม่เหล็กสามารถประมวลผลได้เร็วมากและเข้าถึงข้อมูลได้โดยตรง จึงเหมาะกับงานที่ต้องการการตอบสนองได้ทันที หรือที่เรียกการประมวลผลแบบ Online Processing สามารถเก็บข้อมูลได้ปริมาณมาก ตั้งแต่ 1 ล้านถึง 100 ล้านตัวอักษรต่อแผ่น มีราคาแพง







รูปที่ 3.12 จานแม่เหล็ก

เทปแม่เหล็ก (Magnetic Tape)
เป็นทั้งสื่อนำข้อมูลเข้าและสื่อนำผลลัพธ์ออก (Input / Output Media) สามารถเก็บข้อมูลได้จำนวนมาก การทำงานของเทปแม่เหล็กเป็นแบบเรียงตามลำดับ (Sequential Processing) คือ เครื่องคอมพิวเตอร์จะเริ่มอ่านข้อมูลจากเรคอร์ดแรกเรียงตามลำดับรายการไปเรื่อย ๆ และเหมาะกับงานประมวลผลแบบแบช (Batch Processing) แต่ไม่เหมาะกับงานประมวลแบบทันที (Online Processing) สมัยก่อนเทปแม่เหล็กมาตรฐานมีความกว้าง 0.5 นิ้ว ยาว 2,400 ฟุต เส้นผ่านศูนย์กลาง 12 นิ้ว ทำด้วยพลาสติกเคลือบสารแม่เหล็ก แต่สมัยนี้เทปกลมถูกแทนที่ด้วยเทปตลับขนาดเล็กที่ใหญ่กว่าตลับเทปเพลงเพียงเล็กน้อย แต่สามารถบรรจุข้อมูลได้มากหลายร้อยเมกะไบต์ ผู้ใช้สามารถนำเทปมาใช้ได้หลายครั้งโดยการบันทึกใหม่ทับลงไป












รูปที่ 3.13 เทปแม่เหล็ก

แผ่นดิสเก็ท (Diskette)
เป็นทั้งสื่อนำข้อมูลเข้าและสื่อนำผลลัพธ์ออก (Input / Output Media) ใช้เก็บข้อมูลต่าง ๆ โดยมี DOS คอยทำหน้าที่ในการจัดเก็บ แผ่นดิสเก็ทมีขนาด 8 นิ้ว 5.25 นิ้ว และ 3.5 นิ้ว ซึ่งมีความจุและชื่อในการเรียกต่างกันไป
ขนาด 5.25 นิ้ว
- Double Side, Double Density เรียก DS,DD มีความจุ 360 Kbytes
- Double Side, High Density เรียก DS,HD มีความจุ 1.2 Kbytes
ขนาด 3.5 นิ้ว
- Double Side, Double Density เรียก DS,DD มีความจุ 720 Kbytes
- Double Side, High Density เรียก DS,HD มีความจุ 1.44 Kbytes










รูปที่ 3.14 แผ่นดิสเก็ท


แผ่น CD-ROM
เป็นสื่อบันทึกข้อมูลแบบอ่านได้อย่างเดียว ไม่สามารถบันทึกข้อมูลใหม่ทับข้อมูลเดิม หรือลบข้อมูลเดิมทิ้งได้ มีลักษณะเหมือน Compact Disk หรือแผ่น CD ของวงการเครื่องเสียง ส่วน ROM หมายถึง Read Only Memory คือ หน่วยความจำชนิดอ่านได้อย่างเดียว นั่นเอง มีความจุประมาณ 600 เมกะไบต์ มีประโยชน์ในการจัดทำฐานข้อมูลต่าง ๆ เช่น การนำบทความวิชาการมาบันทึกลงบนแผ่น CD-ROM บทความด้านการแพทย์ ด้านการศึกษา ด้านวิศวกรรม ฯลฯ นอกจากประโยชน์ในการบันทึกข้อความแล้ว ยังสามารถบันทึกภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว และเสียงไว้ด้วยกันได้ ซึ่งเรียกว่าเป็นสื่อหลายแบบ (Multimedia)










รูปที่ 3.15 แผ่น CD-ROM
ไมโครฟิล์ม (Microfilm)
ใช้สำหรับบันทึกข้อมูลข่าวสารที่มีปริมาณมาก ๆ สามารถเก็บข้อมูลได้ทั้งตัวอักษร และภาพ กค ช่วยลดเนื้อที่ในการเก็บข้อมูล แทนที่จะเก็บเอกสารในรูปกระดาษจำนวนมาก ๆ ก็สามารถบันทึกลงบนฟิล์มแผ่นเล็ก ๆ แต่ค่าใช้จ่ายสูงมาก เพราะอุปกรณืการบันทึกข้อมูลลงไมโครฟิล์ม และอุปกรณ์ที่ใช้แสดงผลข้อมูลจากไมโครฟิล์มมีราคาสูงมาก
เนื่องจากหน่วยความจำหลักขนาดใหญ่มีราคาแพง และหากเก็บข้อมูลจำนวนมาก ๆ ไว้ ในหน่วยความจำหลักจะทำให้การประมวลผลช้าลง ดังนั้นผู้ใช้จึงเก็บข้อมูลที่จำเป็นไว้ในหน่วยความจำหลัก และนำหน่วยความจำสำรองเข้ามาช่วยเสริมในการเก็บข้อมูล
















รูปที่ 3.16 ไมโครฟิล์ม

4. หน่วยแสดงผล (Output Unit)
ทำหน้าที่เสนอผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลผล ให้อยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น
1. จอภาพซีอาร์ที (CRT)
2. เครื่องพิมพ์ (PRINTER)
3. พลอตเตอร์ (PLOTTER)

จอภาพซีอาร์ที (CRT : Cathod Ray Tube)
เป็นอุปกรณ์รับและแสดงผล (Input / Output Device) มีลักษณะคล้ายจอโทรทัศน์ ผู้ใช้สามารถป้อนข้อมูลผ่านคีย์บอร์ด ใช้ปากกาแสง หรืออ่านข้อมูลผ่านเครื่องอ่านต่าง ๆ เมื่อประมวลผลข้อมูลเสร็จแล้ว ก็จะแสดงผลลัพธ์ทั้งที่เป็นตัวอักษร และกราฟิกออกทางจอภาพ






รูปที่ 3.17 จอภาพ

เครื่องพิมพ์ (Printer)
เป็นอุปกรณ์แสดงผล (Output Device) ใช้สำหรับพิมพ์รายงานออกทางกระดาษพิมพ์ธรรมดาและกระดาษต่อเนื่อง เทคโนโลยีการพิมพ์ในงานคอมพิวเตอร์ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จากเครื่องพิมพ์ที่ต้องใช้ระบบหัวเข็มกลายมาเป็นระบบเลเซอร์ในที่สุด ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. เครื่องพิมพ์ชนิดกระทบ (Impact Printers)
2. เครื่องพิมพ์ชนิดไม่กระทบ (Non-Impact Printers)

1. เครื่องพิมพ์ชนิดกระทบ (Impact Printers)
คือเครื่องพิมพ์ชนิดที่ใช้การกดแม่พิมพ์ตัวอักษรเข้ากับแถบผ้าหมึก ให้ปรากฏเป็นตัวอักษรบนกระดาษ เครื่องพิมพ์ชนิดนี้แบ่งออกได้หลายชนิด ได้แก่
1.1 เครื่องพิมพ์จุด (Dot Matrix Printer)
1.2 เครื่องพิมพ์อักษรคุณภาพ (Letter-quality Printer) หรือ เครื่องพิมพ์ชนิดที่ใช้หัวพิมพ์แบบมีแม่พิมพ์ (Form Character Printer)
1.3 เครื่องพิมพ์แบบดรัม (Drum Printer)
1.4 เครื่องพิมพ์แบบลูกโซ่ (Chain Printer)

1.1 เครื่องพิมพ์จุด (Dot Matrix Printer)
เป็นเครื่องพิมพ์ขนดเล็กที่พิมพ์ตัวอักษรทีละตัว โดยใช้เข็มแทงออกมาจากกลไกหัวพิมพ์ไปกระทบแถบผ้าหมึก แล้วจึงไปตกลงบนกระดาษอีกทีหนึ่ง (การเคลื่อนไหวของเข็มได้จากการปล่อยกระแสไฟฟ้า ที่มีอุปกรณ์แม่เหล็กไฟฟ้าต่อกับส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวของชุดเข็ม) เครื่องพิมพ์จุดมีสองประเภท คือ ประเภทมีเข็ม 9 เข็ม และประเภทมีเข็ม 24 เข็ม เดิมเครื่องพิมพ์ชนิดนี้พิมพ์ได้สีเดียวคือสีดำ ต่อมมามีผู้ผลิตเครื่องพิมพ์สีซึ่งสามารถพิมพ์ได้หลายสี
ข้อดี สามารถพิมพ์ได้เร็วถึง 700 ตัวอักษรต่อวินาที ราคาถูก สามารถแสดงรูปแบบทางด้านกราฟิกได้ สามารถเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะตัวอักษร (fonts) ได้หลายรูปแบบ
ข้อเสีย จะมีเสียงดังในขณะทำการพิมพ์ ตัวอักษรจะหยาบ พิมพ์ไม่ละเอียด















รูป 3.18 แสดงการพิมพ์โดยชุดเข็มและตัวอักษรที่พิมพ์ได้จากเครื่องพิมพ์จุด

1.2 เครื่องพิมพ์อักษรคุณภาพ (Letter-quality Printer)
เครื่องพิมพ์ชนิดนี้จะใช้หัวพิมพ์ และมีกลไกที่จะกระแทกแม่พิมพ์กับผ้าหมึก กดรูปตัวพิมพ์บนกระดาษ ชนิดของหัวพิมพ์มีหัวพิมพ์แบบจาน (Daisy Wheel) และหัวพิมพ์รูปโคน (Thimble)

หัวพิมพ์แบบจาน (Daisy Wheel) มีลักษณะเป็นจานแบน ๆ ส่วนกลางเป็นแผ่นกลมมีก้านพิมพ์แยกออกมารอบด้านคล้ายกับดอก daisy ที่ปลายแต่ละก้านจะมีตัวพิมพ์นูนเหมือนก้านพิมพ์ดีด ในแต่ละก้านจะบรรจุตัวอักษร 1 ตัว เมื่อทำการพิมพ์จานนี้จะหมุนได้รอย และหมุนตัวอักษรที่ต้องการไปยังตำแหน่งที่ต้องการพิมพ์ จากนั้นหัวค้อนเล็ก ๆ จะกระแทกก้านตัวอักษรด้นไปกดลงบนแถบผ้าหมึก และปรากฏเป็นตัวอักษรขึ้นบนกระดาษ
หัวพิมพ์รูปโคน (Thimble) หัวพิมพ์ชนิดนี้จะมีก้านพิมพ์ขึ้นเป็นรูปโคน และที่ปลายก้านจะบรรจุตัวพิมพ์ไว้ก้านละ 2 ตัวอักษร เมื่อทำการพิมพ์หัวพิมพ์จะหมุนได้ตามแนวนอน จนตัวอักษรที่ต้องการพิมพ์ตรงตำแหน่งที่ต้องการ ค้อนเล็ก ๆ ก็จะกดหัวพิมพ์นี้กับผ้าหมึก ไปปรากฏเป็นตัวอักษรบนกระดาษ














รูปที่ 3.19 ตัวพิมพ์แบบจาน (Daisy Wheel)







รูปที่ 3.20 หัวพิมพ์รูปโคน (Thimble)

ดังนั้นสามารถเรียกเครื่องพิมพ์ชนิดนี้ได้อีกชื่อหนึ่งว่า เครื่องพิมพ์ชนิดใช้หัวพิมพ์แบบมีแม่พิมพ์ (Form Character Printer) หัวพิมพ์ทั้งสองแบบสามารถถอดออกได้ รูปแบบตัวอักษรจะเป็นลายเส้นต่อกัน เรียก ตัวอักษรเต็มรูป (Fully Formed Character)
ข้อดี ได้ตัวอักษรที่สวยงาม
ข้อเสีย มีความเร็วในการพิมพ์ต่ำ ประมาณ 12 -100 ตัวอักษรต่อวินาที ทำให้ใช้เวลาในการพิมพ์มาก และไม่สามารถพิมพ์ออกมาในรูปกราฟิกได้ รวมทั้งมีราคาแพงด้วย

1.3 เครื่องพิมพ์แบบดรัม (Drum Printer)
เป็นเครื่องพิมพ์ที่มีตัวอักษร ตัวเลข และสัญลักษณ์ต่าง ๆ สลับอยู่บนกระบอกโลหะที่เรียกว่า ดรัม (Drum) ในขณะพิมพ์ ดรัมจะหมุนด้วยความเร็วสูง และพิมพ์ค่าบนกระดาษโดยอาศัยม้วนหมึกพิมพ์และแรงตีจากค้อนเล็ก ๆ ซึ่งอยู่ข้างหลังกระดาษ เครื่องพิมพ์นี้มีความเร็วในการพิมพ์ประมาณ 200 – 1,000 บรรทัดต่อนาที

1.4 เครื่องพิมพ์แบบลูกโซ่ (Chain Printer)
เป็นชนิดที่ใช้ลูกโซ่บรรจุตัวอักษร ตัวเลข และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ไว้ การพิมพ์จะทำได้โดยลูกโซ่จะเคลื่อนที่ผ่านกระดาษซึ่งมีม้วนหมึกคั่นอยู่ ในขณะที่ลูกโซ่เคลื่อนที่ผ่านกระดาษ ตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ที่ต้องการให้พิมพ์จะถูกพิมพ์ลงบนกระดาษโดยแรงดีจากค้อนเล็ก ๆ ซึ่งอยู่ข้างหลังกระดาษ เช่นเดียวกับเครื่องพิมพ์แบบดรัม สัญลักษณ์ที่อยู่บนลูกโซ่จะมีหลายชุดเพื่อความรวดเร็วในการพิมพ์ เครื่องพิมพ์แบบนี้จะพิมพ์ได้ประมาณ 200 – 2,000 บรรทัดต่อนาที










รูปที่ 3.21 เครื่องพิมพ์แบบลูกโซ่

2 เครื่องพิมพ์ชนิดไม่กระทบ (Non-Impact Printers)
คือเครื่องพิมพ์ที่อาศัยกรรมวิธีอื่น ๆ เพื่อให้เกิดตัวอักษรขึ้นมา โดยที่ได้ได้เกิดจากการใช้อุปกรณ์ตกลงบนหมึกพิมพ์กระทบลงบนกระดาษ แต่อาจใช้เทคนิคทางด้านความร้อน สารเคมี หรือไฟฟ้าแทน ฉะนั้นสิ่งที่ควรคำนึงถึงการใช้เครื่องพิมพ์ชนิดนี้ คือกระดาษต้องผลิตขึ้นโดยเฉพาะ ไม่สามารถใช้กระดาษธรรมดาได้ หรือไม่ควรใช้กระดาษพิมพ์ที่บางเกินไป เครื่องพิมพ์ชนิดนี้แบ่งได้ 2 ชนิด คือ
2.1 เครื่องพิมพ์เลเซอร์ (Laser Printer)
2.2 เครื่องพิมพ์ชนิดหมึกฉีด (Inkjet Printer)

2.1 เครื่องพิมพ์เลเซอร์ (Laser Printer)
เป็นเครื่องพิมพ์ที่มีความคมชัดสวยงาม สามารถพิมพ์ภาพกราฟิก และตัวอักษรได้หลายขนาด หลายแบบ มีหลักการทำงานคล้ายเครื่องถ่ายเอกสารทั่วไป โดยลำแสงเลเซอร์จะส่องไปกระทบกับแผ่นโลหะที่ฉาบไว้ด้วยซิลิเนียม ซึ่งแผ่นซิลิเนียมนี้เมื่อใกล้สายไฟแรงสูงจะทำให้เกิดประจุไฟฟ้าบวกขึ้น ยกเว้นบริเวณที่ถูกแสงเลเซอร์จะเกิดประจุลบแทน ซึ่งประจุลบนี้จะถูกผงหมึกเข้ามาติดและถ่ายเข้าไปยังกระดาษ ทำให้เกิดเป็นตัวอักษรขึ้น
ความคมชัดของเครื่องพิมพ์เลเซอร์ ขึ้นอยู่กับความละเอียดของจุดภาพ เครื่องพิมพ์อย่างหยาบมีจุดภาพขนาด 300 จุดต่อนิ้ว อย่างละเอียดมีขนาด 600 จุดต่อนิ้ว หรือมากกว่า ความเร็วในการพิมพ์ตั้งแต่ 6 หน้าต่อนาทีขึ้นไป ข้อเสียคือ ผงหมึก (Toner) มีราคาค่อนข้างแพง

รูปที่ 3.22 เครื่องพิมพ์ Laser รูปที่ 3.23 เครื่องพิมพ์ Dot Matrix

2.2 เครื่องพิมพ์ชนิดหมึกฉีด (Inkjet Printer)
เป็นเครื่องพิมพ์ที่มีการพ่นหมึกให้ปรากฏเป็นตัวอักษรโดยตรงบนกระดาษ แทนการใช้ผ้าหมึก โดยการบังคับหยดน้ำหมึกให้ลงในตำแหน่งที่ต้องการ ซึ่งถูกควบคุมด้วยไฟฟ้าสถิตย์ สามารถพิมพ์ได้เร็วประมาณ 30 – 300 ตัวอักษรต่อนาที สามารถพิมพ์ตัวอักษรได้หลายชนิด ตัวพิมพ์คมชัด พิมพ์ได้หลายสี และพิมพ์รูปภาพกราฟิกได้ เครื่องพิมพ์ชนิดนี้ได้รับความนิยมน้อยกว่าเครื่องพิมพ์จุดและเครื่องพิมพ์เลเซอร์

พลอตเตอร์ (Plotter)
ใช้สำหรับพิมพ์ข้อมูลที่มีลักษณะกคออกทางกระดาษพิมพ์ สามารถพิมพ์รูปทรงต่าง ๆ เช่น แผนที่ วงกลม กราฟแท่ง เหมาะกับงานการออกแบบ สถาปัตยกรรม วิศวกรรมศาสตร์ ตลอดจนงานธุรกิจ การเงิน และสถิติต่าง ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น