วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2552

เคลือบกรอปรูปวิทยาศาสตร์

เคลือบกรอปรูปวิทยาศาสตร์
เครื่องมือ
แผ่นฟิล์มไมล่าร์ คัทเตอร์
ไม้บรรทัด ลูกกลิ้ง
ไขควง ถ้วยใส่เรซิ่นพร้อมที่คน
ปากกาเมจิกสีดำ พู่กัน
วัสดุไม้แผ่นขนาดเหมาะสมกับรูป กระดาษลายหน้า-หลัง
น้ำยาเรซิ่น น้ำยาฮาร์ดเดนเนอร์
น้ำยากันซึม ทินเนอร์
กาวลาเท็กซ์ กระดาษกาวย่น
กระดาษทรายน้ำเบอร์150
ทุกอย่างหาซื้อได้จากร้านขายเครื่องอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ทั่ว ๆ ไป หรือเปิดดูสมุดหน้าเหลืองดูหมวดเรซิ่นก็จะรู้ว่าที่ไหนมีจำหน่ายอุปกรณ์เหล่านี้บ้าง
อัตราส่วนผสมระหว่างเรซิ่นกับฮาร์ดเดนเนอร์
ภาพขนาด 11”x14”
ใช้เรซิ่น 909 130 ซีซี ฮาดเดนเนอร์ 22-25 หยด
ภาพขนาด 10”x12”
ใช้เรซิ่น 909 100 ซีซี ฮาดเดนเนอร์ 18-20 หยด
ภาพขนาด 8”x10”
ใช้เรซิ่น 909 70 ซีซี ฮาดเดนเนอร์ 12-14 หยด
ภาพขนาด 5”x7”
ใช้เรซิ่น 909 40 ซีซี ฮาดเดนเนอร์ 9-10 หยด
ภาพขนาด 3”x5”
ใช้เรซิ่น 909 25 ซีซี ฮาดเดนเนอร์ 5-7 หยด
การเคลือบภาพ
1. การเคลือบรูป รูปที่ใช้ในการทำกรอปรูปวิทยาศาสตร์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.1 รูปที่สามารถเคลือบได้ เช่นรูปถ่ายที่อัดจากร้านถ่ายรูป 1.2 รูปที่ต้องทาน้ำยากันซึมก่อนถึงจะเคลือบได้ เช่น รูปโปสเตอร์ รูปจากหนังสือนิตยสารต่าง ๆ สิ่งพิมพ์, ธนบัตร, ประกาศนียบัตรต่าง ๆ
2. การเคลือบไม้ ไม้ที่จะใช้ติดรูปเพื่อทำกรอบวิทยาศาสตร์ได้แก่ไม้ เอ็มดีเอฟ หรือเรียกว่าไม้อัด มีความหนาตั้งแต่ 3 มม. ถึง 9 มม.
2.1 เลือกไม้อัดให้เหมาะสมกับรูป
2.2 ด้านบนและด้านล่างจะต้องเรียบไม่ขรุขระหรือเป็นหลุม วิธีการทำกรอปรูปวิทยาศาสตร์
1. ติดกระดาษลายกับไม้อัดทั้ง 2 ด้านโดยการทากาวที่ไม้อัดตลอดทั้งแผ่นให้เรียบและไม่หนาจนเกินไป นำกระดาษลายตัดไว้มาติดบนแผ่นไม้ใช้ลูกกลิ้ง กลิ้งให้เรียบและไม่มีฟองอากาศใช้คัทเตอร์ตัดส่วนที่เกินจากไม้ให้ชิดขอบไม้ทุกด้าน
2. ติดรูปกับไม้ โดยการนำรูปมาทากาวด้านหลังรูปให้ทั่วบานและไม่หนาจนเกินไปนำไปติดตรงจุดที่กำหนดไว้บนแผ่นไม้อัด ใช้ลูกกลิ้ง กลิ้งให้เรียบและไม่มีฟองอากาศ
3. ติดดิ้นเงินและดิ้นทองตามรอยขอบรูปภาพทั้ง 4 ด้าน
4. ทายากันซึมในกรณีที่ไม่ใช่รูปถ่าย การทาน้ำยากันซึมควรทาประมาณ 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งต้องทิ้งเอาไว้ให้แห้งเสียก่อน
5. ติดกระดาษกาวย่น ที่ขอบรูปทั้ง 4 ด้านให้ต่ำจากด้านขอบด้านหน้าประมาณ 0.5 มม. การติดกระดาษกาวนี้เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำยาเรซิ่นเกาะที่ขอบไม้ และไหลลงไปเบื้อนด้านหลังรูป
6. นำรูปที่เตรียมเรียบร้อยแล้ววางลงบนที่รองสูงจากพื้นประมาณ 1-2 นิ้ว ควรปูกระดาษหนังสือพิมพ์ด้านล่างของที่รองก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำยาเรซิ่นไหลลงไปเลอะที่พื้น
7. ผสมน้ำยาเรซิ่นในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับขนาดของกรอปรูปแล้วคนให้เข้ากันประมาณ 1 นาที
8. การเคลือบน้ำยาเรซิ่น
8.1 การเคลือบน้ำยาเรซิ่นครั้งที่ 1 เทเรซิ่นที่ผสมกันเรียบร้อยแล้วลงตรงกลางรูป นำแผ่นฟิล์มไมล่าร์ที่ขึงไว้กับเฟรมวางทับลงบนน้ำยาเรซิ่นแล้วใช้ลูกกลิ้งยาง กลิ้งบนแผ่นฟิล์มให้น้ำยาเรซิ่นวิ่งไปบนรูปจนไม่มีฟองอากาศ (การกลิ้ง ควรกลิ้งจากกลางรูปออกไปทั้ง 4 ด้าน) หรือหลังจากที่เทเรซิ่นลงบนภาพและใช้แผ่นฟิล์มโมล่าร์ทับแล้ว เอาแผ่นกระจกทับลงบนแผ่นฟิล์มไมล่าร์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้น้ำยาเคลือบเมื่อแห้งแล้วราบเรียบเหมือนกับกระจกทิ้งเอาไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อน้ำยาแห้งดีแล้วจึงแกะแผ่นฟิล์มไมล่าร์ออกจากแผ่นภาพ จะได้ภาพเคลือบน้ำยา เป็นการเคลือบกรอปรูปวิทยาศาสตร์ตามต้องการ
8.2 การเคลือบน้ำยาเรซิ่นครั้งที่ 2 เมื่อเคลือบน้ำยาเรซิ่นครั้งที่ 1 แล้ว จะเคลือบอีกสักกี่ครั้งก็ได้ ก่อนที่จะทำการเคลือบทับ จะต้องขัดผิวหน้าด้วยกระดาษทราย บริเวณขอบที่เป็นลายไม้อย่างขัดตรงกลางรูปเพื่อให้น้ำยาเรซิ่นติดแน่นกับของเก่าได้สนิทส่วนที่มัวเพราะการขัด เมื่อเคลือบทับจะเป็นเงาขึ้นมาเอง การเคลือบทับนี้ทำเหมือนกับขั้นตอนที่ 1 การเคลือบทับนี้จะทำให้ผิวหน้าของเรซิ่นหนาขึ้น ไม่สะดุดตรงรอยต่อรูปหรือลายไม้หรือลายเส้น
9. หลังจากเคลือบเรซิ่นจนได้ผิวหน้าที่เรียบและสวยงามแล้ว ใช้คัทเตอร์ตัดส่วนที่เลยออกจากขอบรูป โดยให้ตั้งฉากกับแนวขอบรูป แกะกระดาษลายที่ขอบทั้ง 4 ด้านให้เรียบร้อย ทำความสะอาด ติดขาตั้งหรือใส่โซ่สำหรับแขวน ข้อควรระวัง
1. ฮาร์ดเดนเนอร์หรือตัวทำแข็ง ถ้าถูกผิวหนัง ควรใช้สบู่ล้างดีกว่าผงซักฟอก เพราะเป็นกรดชนิดหนึ่ง
2. น้ำยาเรซิ่นมีอายุการใช้งานประมาณ 1-2 เดือน ไม่ควรเก็บเอาไว้ในที่มีอากาศร้อนจัด ควรเก็บเอาไว้ในที่ทึบแสง อุณหภูมิประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส
3. การผสมเรซิ่นตัวทำให้แข็ง ถ้าอากาศร้อนให้ลดปริมาณตัวทำให้แข็งลง ถ้าอากาศเย็นให้เพิ่มปริมาณตัวทำให้แข็งมากขึ้น
4. การคนน้ำยาไม่ทั่วถึง จะทำให้เรซิ่นที่ผสมแข็งตัวไม่เสมอกัน
5. การเก็บและรักษาทำความสะอาดแผ่นฟิล์มไมล่าร์ ระวังอย่าให้แผ่นฟิล์มหักหรือเป็นรอย
6. รูปถ่ายที่เป็นกระดาษอัดรูป (ยกเว้นกระดาษพิมพ์ต่าง ๆ) ถ้าเปื้อนกาวหรือรอยนิ้วมือให้ใช้ทินเนอร์เช็ดทำความสะอาดได้ แต่อย่าให้ถูกกระดาษลายไม้ เพราะจะทำให้กระดาษลายไม้ลอกทันที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น