วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2552

การพัฒนาเศรษฐกิจ

การพัฒนาเศรษฐกิจ
ความหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจ
การพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development) หมายถึง ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ โดยมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ผลผลิตเพิ่มขึ้นรวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการผลิต โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม อันมีผลเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของประเทศด้วย
ความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ
การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ทุกประเทศต่างมุ่งหวังที่จะยกระดับประเทศของตนเองให้พ้นจากคำว่า ประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพลเมืองของประเทศ ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจจึงมีความสำคัญ คือ
1. พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น เมื่อมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจย่อมหมายถึงการขยายตัวด้านการผลิต สถานประกอบการต่าง ๆ เร่งผลิตสินค้าและบริการ ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น เป็นผลดีต่อประชาชนเพราะทำให้เกิดรายได้ มีกำลังซื้อและสามารถยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น มีโอกาสที่จะแสวงหาความรู้ความสามารถ ดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและสมาชิกในครอบครัว สามารถแสวงหาปัจจัยสี่ได้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ
2. พัฒนาความสงบเรียบร้อยของสังคม การที่ประชาชนแต่ละคนมีงานทำ มีรายได้ และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นย่อมทำให้สังคมสงบสุข ทั้งนี้เพราะถ้าประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี ย่อมไม่ก่อเหตุโจรกรรม ติดยาเสพติด หรือประกอบอาชีพอื่น ๆ ที่เป็นภัยแก่ตนเองและสังคม จึงถือได้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจช่วยลดปัญหาสังคมลงได้ในระดับหนึ่ง
3. พัฒนาให้ประเทศมีอำนาจต่อรองและช่วยตนเองทางด้านเศรษฐกิจได้ ในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ต่างก็แข่งขันกันยิ่งใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจเพื่อการมีอำนาจในสังคมโลก อันเป็นเครื่องแสดงถึงการมีอำนาจต่อรองกับประเทศต่าง ๆ ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือตนเองให้สามารถยืนหยัดอยู่ด้วยความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เมื่อมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจสามารถช่วยเหลือตนเองได้เป็นอย่างดี
4. พัฒนาให้เกิดสันติภาพในสังคมโลก ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ ทุกประเทศจะต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กันโดยเฉพาะทางด้านการค้า ซึ่งการติดต่อสัมพันธ์กันนี้ย่อมก่อให้เกิดการช่วยเหลือกันทางด้านเทคโนโลยี เงินทุน ผู้เชี่ยวชาญ หรือวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ มากขึ้น เป็นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของระดับการพัฒนาระหว่างประเทศให้น้อยลง ทำให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคมโลก
5. พัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัยยิ่งขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจสามารถทำได้รวดเร็วสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะสังคมมีการคิดค้นและประดิษฐ์เทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นมาใช้อยู่เสมอ ยิ่งเศรษฐกิจพัฒนามากขึ้นเท่าใดยิ่งมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้นเท่านั้น จึงถึงได้ว่ายุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งความเจริญทางเทคโนโลยี

การวางแผนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ
แผนพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development Plan) หมายถึง การกำหนดแนวทางของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยทั่วไปแล้วแผนพัฒนาเศรษฐกิจจะแบ่งได้หลายลักษณะ ในที่นี้จะแบ่งตามระยะเวลาในการดำเนินงานดังนี้
1. แผนระยะสั้น คือ แผนที่จะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 1 ปี เป็นแผนที่จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาหรือดำเนินกิจกรรมในระยะเวลาสั้น ๆ จะมีการปรับปรุงแผนและจัดทำขึ้นใหม่ในแต่ละปี บางครั้งจึงเรียกว่า แผนประจำปี ถือเป็นแผนที่สามารถพัฒนางานด้านต่าง ๆ ได้ตรงจุดมากที่สุด เพราะมีช่วงเวลาของการพัฒนาสั้นจึงสามารถวางแผนพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขปัญหาได้ทันต่อเหตุการณ์
2. แผนระยะกลาง คือ แผนที่จะมีช่วงระยะเวลาในการดำเนินงานประมาณ 4-6 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นแผนที่กำหนดขึ้นตามแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนระยะยาวของประเทศ ซึ่งได้แก่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมักจะมีระยะเวลาในการดำเนินการ 5 ปี
3. แผนระยะยาว คือ แผนที่กำหนดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไว้ในระยะยาวเกินกว่า 6 ปี ขึ้นไป ซึ่งอาจจะเป็น 10 ปี 15 ปี หรือมากกว่านั้น แนวทางที่กำหนดไว้ในแผนประเภทนี้จะมีลักษณะกว้าง ๆ เพื่อใช้เป็นกรอบสำหรับการกำหนดเป็นแผนระยะกลางและระยะสั้นต่อไป

การพัฒนาเศรษฐกิจของไทย
แผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในอดีต
ตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในปี พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร์ ก็ได้มีการจัดทำแผนเศรษฐกิจขึ้น ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า “เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ” โดยมีลักษณะของหลักเกณฑ์เน้นไปทางลัทธิสังคมนิยม จึงไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้นำของประเทศ จนถึง พ.ศ. 2496 รัฐบาลได้ตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษารัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาด้านเศรษฐกิจและวิเคราะห์ภาวะทางเศรษฐกิจทั่วไป ต่อมาสภาแห่งนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการทำผังเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อพิจารณางบประมาณการลงทุนที่กำลังขยายตัวในขณะนั้น ซึ่งการดำเนินการของคณะกรรมการฯดังกล่าวนี้เป็นพื้นฐานของการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทยในระยะเวลาต่อมา
ประเทศไทยเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2504 โดยมีการจัดตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นมารับผิดชอบในการจัดทำ เรียกว่า “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ” สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งประเทศไทยได้ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจไปแล้ว 8 ฉบับ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระยะของการใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) โดยสรุปเป้าหมายแผนพัฒนาเศรษฐกจิและสังคมแห่งชาติได้ดังนี้

สรุปเป้าหมายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
แผนพัฒนาฯ
เป้าหมาย
ฉบับที่ 1
พ.ศ. 2504 – 2509
เพื่อเสริมสร้างบริการขึ้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
ฉบับที่ 2
พ.ศ. 2510 – 2514
เพื่อเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการก่อสร้างโครงการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต
ฉบับที่ 3
พ.ศ. 2515 – 2519
เพื่อสร้างประโยชน์จากโครงการพื้นฐานและกระจายการพัฒนาไปสู่ชนบท และกำหนดนโยบายประชากรขึ้นเป็นครั้งแรก
ฉบับที่ 4
พ.ศ. 2520 – 2524
ฟื้นฟูเศรษฐกิจและขยายการส่งออก ปรับปรุงการบริหารทรัพยากรหลังของประเทศ
ฉบับที่ 5
พ.ศ. 2525 – 2529
เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินและการกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาคที่ยากจนและล้าหลัง
ฉบับที่ 6
พ.ศ. 2530 – 2534
เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการกระจายรายได้ให้เหมาะสม
ฉบับที่ 7
พ.ศ. 2535 – 2539
เพื่อการกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาคและการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ฉบับที่ 8
พ.ศ. 2540 – 2544
เพื่อระดมการออม ลดความยากจน อนุรักษ์และจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ฉบับที่ 9
พ.ศ. 2545 – 2549
เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจมหภาค มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 4-5 ต่อปี ลดความยากจน เพิ่มการจ้างงานใหม่ รวมทั้งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการ ตลอดจนความสามารถทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางการพัฒนาและการดำรงชีวิตของคนไทย โดยเน้นเรื่องความพอประมาณอย่างมีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกันและพึ่งตนเองได้
แผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน
ปัจจุบันการพัฒนาประเทศของไทยได้เข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ซึ่งยึดแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในช่วงปี 2540 – 2541 ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง การพัฒนาประเทศหลายด้านต้องหยุดชะงักลง ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของสังคมไทย และในปี พ.ศ. 2544 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง 2 ประการ คือ รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศ และในปี พ.ศ. 2544 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง 2 ประการ คือ รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศ ในปี พ.ศ. 2544 และมีการประกาศให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 – 2549) ขณะที่นโยบายของรัฐบาลมีความสอดคล้องสัมพันธ์ กับวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของแผนพัฒนาฯ ในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็ง นอกจากนั้น ผลจากการปฏิรูประบบราชการ ทำให้ทุกหน่วยงานจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อการดำเนินงานที่ชัดเจน สามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ นโยบายรัฐบาลและเป็นแผนยุทธศาสตร์เพื่อชี้นำทิศทางการพัฒนาประเทศ แผนยุทธศาสตร์ชาติ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารองค์กรแนวใหม่แทนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งฉบับปัจจุบันถือเป็นฉบับสุดท้าย
สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 มีจุดเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ 4 เรื่อง ดังนี้
1. การแก้ไขปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ ในการแก้ไขปัญหาความยากจนได้มีข้อเสนอทางยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาไว้ 3 ด้าน ดังนี้
1) เพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพของคนจน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนภายในท้องถิ่นและชุมชนของตนเอง รวมทั้งการขยายขอบข่ายความช่วยเหลือและอุดหนุนของรัฐในด้านเงินอุดหนุนการศึกษา กองทุนก็ยืมเพื่อการศึกษาไปยังกลุ่มเป้าหมายคนจน
2) การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีผลกระทบต่อความยากจน โดยการพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมให้เข้าถึงกลุ่มคนจนและผู้ด้อยโอกาส การให้เกษตรกรรายย่อยและคนจนสามารถถือครองที่ดินเพื่อประกอบอาชีพได้
3) การเสริมสร้างองค์ความรู้และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาในท้องถิ่นมีบทบาทในการสร้างองค์ความรู้ให้แก่ชุมชน
2. การพัฒนาศักยภาพคนไทยและการสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคม ในการพัฒนาศักยภาพคนไทยและการสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคม จะช่วยผลักดันการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความยากจนและสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งมีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ดังนี้
1) พัฒนาศักยภาพคนไทยและสร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีพ โดยการเร่งรัดการจัดการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี และความร่วมมือกับภาคเอกชนในการสร้างแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ ตลอดจนการสร้างสภาพแวดล้อมให้สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต
2) พัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคม โดยการเปิดโอกาสและสนับสนุนให้ชุมชนสามารถสร้างและพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคมในระดับพื้นที่ได้
3. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน มีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ดังนี้
1) การสร้างกระบวนทัศน์ร่วมให้คนไทยมีจริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อม
2) การปรับปรุงกลไกและเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3) การแยกบทบาทและหน้าที่ขององค์กรที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาตและสิ่งแวดล้อมเป็นอิสระต่อกัน
4) การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยมีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ดังนี้
1) การบริหารจัดการด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคเอกชน เพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ
2) การหายุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ ด้านการค้าและความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ในระยะยาวและการรับผลประโยชน์ร่วมกันจากการร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย
นโยบายและมาตรการในการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ภูมิภาค
ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการท้องถิ่นในระดับจังหวัดและตำบลขึ้น เพื่อเป็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคมอย่างยั่งยืนจากฐานล่างไปสู่ฐานบน จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างการผลิตและตลาดการค้าของประเทศให้สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศทั้งด้านกายภาพและลักษณะทางสังคม โดยการเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาของภูมิภาคและชนบท ซึ่งภาครัฐมีนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการกระจายอำนาจและการพัฒนาของภูมิภาค สามารถสรุปได้ดังนี้
1. มาตรการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาภูมิภาค เป็นมาตรการที่ให้ชุมชนมีการขยายกิจกรรมต่าง ๆ โดยเน้นการพึ่งพาตนเองให้ได้ทุกด้าน และมีการขยายพื้นที่จากจังหวัดนำร่องไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ภายใต้การมีส่วนร่วมของพหุภาคีต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนาตำบล โครงการสร้างเศรษฐกิจชุมขนพึ่งตนเองในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนากลุ่มอาชีพ เกิดเครือข่ายขององค์กรชุมชนที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการผู้ด้อยโอกาสในชุมชนมีสวัสดิการที่ดีขึ้น โดยภาครัฐมีบทบาทหน้าที่ในการใช้คำปรึกษาด้านต่าง ๆ และให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในด้านที่จำเป็นเท่านั้น
2. มาตรการส่งเสริมการประกอบอาชีพ เป็นการสร้างโอกาสทางอาชีพและการมีงานทำให้เกิดขึ้นภายในชุมชน โดยเฉพาะการพัฒนาเกษตรยั่งยืนภายใต้การสนับสนุนของรัฐในด้านต่าง ๆ เช่น การกระจายบริการทางการเงิน การจูงใจภาคธุรกิจเอกชนเชื่อมโยงกับธุรกิจของชุมชน เป็นต้น
3. มาตรการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลได้ดำเนินการปรับบทบาท ภารกิจ และโครงสร้างส่วนราชการและการบริหารราชการแนวใหม่ เพื่อแบ่งแยกภาระกิจและสร้างระบบความรับผิดชอบต่อผลงานให้ชัดเจน โดยได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ส่งผลให้โครงสร้างส่วนราชการเปลี่ยนจากเดิม 14 กระทรวงเป็น 20 กระทรวง
นอกจากนี้ รัฐบาลได้มติเห็นชอบให้ปรับปรุงการบริหารงานของจังหวัดให้เป็นแบบบูรณาการโดยให้จังหวัดมีฐานะเสมือนหน่วยธุรกิจเชิงยุทธศาสตร์ที่สามารถวินิจฉัยข้อมูล ปัญหาและอุปสรรค กำหนดแนวทางแก้ไขและดำเนินการให้เป็นไปตามที่ตัดสินใจได้อย่างครบวงจรภายในจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บริหารสูงสุดของจังหวัด (Chief Executive Office : CEO) รวมทั้งเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศทุกประเทศใช้การบริหารงานแบบบูรณาการ
สิ่งที่ประชาชนจะได้รับจากการบริหารงานแบบบูรณาการ หรือเรียกโดยทั่วไปว่า ซีอีโอ (CEO) นี้ มีดังนี้
1) ด้านบริการ ได้รับบริการจากรัฐซึ่งมีคุณภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรมมากกว่าระบบเดิม
2) ด้านปัญหาความเดือดร้อน ปัญหาความเดือดร้อนได้รับการแก้ไข ข้อเรียกร้องและความต้องการต่าง ๆ ได้รับการตอบสนอง โดยประชาชนรับรู้และสามารถติดต่อประสานงานกับหน่วยงานหรือบุคคลที่รับผิดชอบได้โดยตรง
3) ด้านการมีส่วนร่วม ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา การแก้ไขปัญหาและการจัดทำบริการ ไม่ใช่ภาครัฐดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียวเหมือนที่ผ่านมา
4) ด้านข้อมูล สามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนสามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ
5) ด้านความมั่นคงปลอดภัย ประชาชนอยู่ในสังคมที่สวบเรียบร้อยและมีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ผลของการบริหารงานแบบบูรณาการจะทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สนองตอบระเบียบวาระแห่งชาติและปัญหาความต้องการของประชาชน และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน นำความมั่งคั่ง มั่นคงมาสู่ประชาชนและประเทศชาติ
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยเกิดภาวะการว่างงานที่ทวีความรุนแรงขึ้นถึงเกือบ 3 เท่าตัว ความยากจนกลับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าก่อนวิกฤต มาตรฐานความเป็นอยู่และรายได้ของคนไทยลดลงมาก และกลุ่มคนในชนบทได้รับผลกระทบรุ่นแรงกว่าคนในเมือง การแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและลดผลกระทบทางสังคมของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้มีส่วนผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวมีเสถียรภาพและเรียกความเชื่อมั่นคืนมาได้ระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีความเปราะบางและมีขีดจำกัดในการปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
เมื่อรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ามาบริหารประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 เป็นช่วงระยะเวลาที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่อยู่ในภาวะปกติ ปัญหาผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่คือ ปัญหาการหดตัวทางเศรษฐกิจ คนว่างงานยังมีมากกว่า 1.1 ล้านคน และคนไทยยากจนถึง 8.2 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณร้ายละ 86.5 อยู่ในชนบท หรือกล่าวได้ว่าคนในชนบทร้อยละ 16.6 เป็นคนยากจนและประกอบอาชีพการเกษตรเป็นหลัก รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้กำหนดเป็นเป้าหมายหลักที่จะแก้ปัญหาความยากจน โดยการดำเนินนโยบายคู่ขนานหรือสองแนวทางที่มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าและกระจายโอกาสการประกอบอาชีพให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีเสถียรภาพ เพื่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก รวมทั้งสามารถก้าวสู่เศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืน
รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจรากหญ้าและหลักประกันสังคมที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นองค์รวม โดยมีเป้าหมายการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และการให้โอกาสแก่ประชาชนที่พัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น นโยบายดังกล่าวประกอบด้วย
1. โครงการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย เป็นนโยบายที่ต้องการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน พ.ศ. 2544 ถึง 31 มีนาคม พ.ศ. 2547 เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรอย่างเร่งด่วนโดยวางระบบการฟื้นฟูและให้ความช่วยเหลือปรับโครงสร้างการผลิตอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับธนาคารเพื่อการเกษตรและกหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะทำหน้าที่ปรึกษาให้คำแนะนำกับเกษตรกรที่อยู่ตามตำบลต่าง ๆ ในการปรับโครงสร้างการประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม
2. โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นนโยบายที่ต้องการเสริมกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชนเมืองในด้านการเรียนรู้ การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่ม การแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างศักยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยรัฐจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งละ 1 ล้านบาท พร้อมเสริมสร้างและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถในการจัดระบบบริหารจัดการเงินกองทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญนการสร้างอาชีพและรายได้แก่ประชาชนในชุมชนและวิสาหกิจขนาดเล้กในครัวเรือน
จากผลการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2546 มีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจำนวน 74,589 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 98.7 ของชุมชน หรือหมู่บ้านเป้าหมาย มีสมาชิก 7.7 ล้านราย โดยพบว่าจากประชาชนร้อยละ 65.2 ของชุมชนทั้งหมดที่เป็นสมาชิก ก่องทุนสามารถตอบสนองความต้องการเงินทุนของสมาชิกได้ร้อยละ 94 ของสมาชิกทั้งหมด แต่ยังช่วยเหลือคนยากจนเรื้อรังได้เพียงร้อยละ 6.5 ของประชากรภายในกลุ่มเท่านั้น นอกจากนี้กระบวนการเรียนรู้จากกองทุนได้สงผลให้ประชาชนมีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่การพึ่งตนเองได้มากขึ้น โดยกองทุนส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพการบริหารจัดการในระดับปานกลาง อย่างไรก็ดีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองนับว่ามีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจระดับครัวเรือน ทำให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.2 ทั้งยังส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยให้สภาพความเป็นอยู่และความปลอดภัยของชุมชนดีขึ้น
3. โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นนโยบายที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้แต่ละชุมชนได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาสินค้า โดยภาครัฐพร้อมจะให้ความช่วยเหลือในด้านความรู้สมัยใหม่และการบริหารจัดการ เพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยการสร้างความแตกต่างและคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาด เพื่อสมาชิกในชุมชนสามารถยึดเป็นอาชีพหลักได้ โดยการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการของกรรมการและสมาชิกทั้งด้านการผลิตและทันสมัยตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อที่ประชาชนจะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จากผลการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ในปี พ.ศ. 2546 พบว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้ภูมิปัญญาและวัตถุดิบในท้องถิ่น นับว่าประสบผลสำเร็จดีทั้งด้านจำนวนผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและมีคุณภาพดีขึ้น โดยได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ครบทุกตำบล มีผลิตภัณฑ์ดีเด่นตามหลักเกณฑ์จำนวน 7.753 ผลิตภัณฑ์ และได้รับเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับจังหวัดจำนวน 925 ผลิตภัณฑ์ ส่วนการคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับชาติมีเพียง 461 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งนับว่ายังมีสัดส่วนน้อย จากการสำรวจพบว่าในด้านการพัฒนาการตลาดกลุ่มที่ประสบผลสำเร็จด้านการเพิ่มยอดขายและแหล่งจำหน่ายเพิ่มขึ้นมีประมาณร้อยละ 85.2 และร้อยละ 57.6 ของจำนวนกลุ่มทั้งหมดตามลำดับ ส่วนการสร้างเอกลักษณ์ของสินค้ายังอยู่ในระดับเริ่มต้น โครงการนี้ยังมีส่วนสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้นจากการรวมกลุ่มพัฒนาอาชีพ การมีเครือข่ายและการบริหารจัดการที่เป็นระบบมากขึ้น ทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกเพิ่มขึ้นประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนกลุ่มทั้งหมด มีงานทำมากขึ้นจากการขยายเวลาการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ขณะเดียวกันชุมชนมีความสามัคคีและเอื้ออาทรต่อกันมากขึ้นและยังช่วยบรรเทาปัญหาทางสังคมอีกทางหนึ่งด้วย
4. โครงการธนาคารประชาชน เป็นนโยบายที่ต้องการกระจายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย เพื่อสร้างทางเลือกและลดการพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ ทำให้ประชาชนสามารถสร้างงานและรายได้ด้วยตนเอง ซึ่งนโยบายดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารออมสินและเป็นแหล่งเงินกู้ที่สำคัญของประชาชน สามารถกู้เงินได้โดยไม่ต้องมีหลักค้ำประกัน แต่พิจารณาสินเชื่อจากบุคคลค้ำประกันและเสียดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเงินกู้นอกระบบ รวมทั้งความสามารถในการทำรายได้ของธุรกิจส่วนตัวนั้น ๆ เป็นสำคัญซึ่งธนาคารออมสินได้จัดทำโครงการธนาคารประชาชนขึ้นเพื่อสร้างพื้นฐานความมั่นคงที่ยั่งยืน ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยด้วยการบริการที่สมบูรณ์แบบคือการส่งเสริมการออมทรัพย์ ให้คำแนะนำปรึกษาในการประกอบอาชีพ และสนับสนุนเงินทุน
จากผลการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2546 พบว่ามีสมาชิกรวม 583,297 ราย และธนาคารออมสินให้เงินกู้แก่สมาชิกแล้วมากกว่า 400,000 ราย เป็นเงินให้กู้รวม 11,122.8 ล้านบาท สมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง ธนาคารกำหนดให้กู้ได้ไม่เกินรายละ 30,000 บาทโดยใช้เป็นเพียงเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพมากกว่าเป็นเงินลงทุน และใช้ในกิจการเดิมมากกว่าอาชีพใหม่ การให้เงินกู้ของธนาคารประชาชนช่วยให้สมาชิกที่มีหนี้สินนอกระบบสามารถลดจำนวนหนี้สินนอกระบบลงซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ นอกจากนี้ยังช่วยให้สมาชิกร้อยละ 81 มีรายได้เพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดการจ้างงานนอกครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 และพบว่าสมาชิกร้อยละ 98.3 มีความพึงพอใจในการดำเนินโครงการ เนื่องจากช่วยให้มีโอกาสกู้ในระบบในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
5. โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ โดยการจัดตั้งธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการเดิมและเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการใหม่อย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างและรักษาฐานการผลิต การจ้างงาน การสร้างรายได้ การส่งออก และเป็นการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งโครงการสินเชื่อห้องแถวของธนาคารออมสินในการช่วยเหลือร้านค้าปลีกเพื่อไม่ให้ปิดกิจการ มีการจัดทำระบบจัดซื้อรวม ให้สินเชื่อรวม นอกจากนี้ยังจัดตั้งบริษัทกลางในการบริหารสินทรัพย์เพื่อดำเนินการให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ออกจากระบบของธนาคารพาณิชย์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แกสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคการผลิตและบริการ
โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ เป็นผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2545 และสิ้นสุดโครงการแล้ว พบว่าประสบความสำเร็จสูงกว่าเป้าหมาย 1.2 เท่า มีผู้ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะธุรกิจสูงกว่าเป้าหมาย 1.05 เท่า และสร้างผู้ประกอบการใหม่ได้มากกว่าเป้าหมาย 1.3 เท่า นอกจากนี้โครงการได้มีผลกระทบทำให้มีการลงทุนสูงกว่าเป้าหมายเกือบ 5 เท่า การจ้างงานสูงกว่า 1.7 เท่า ทำให้แรงงานและผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น
6. โครงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นนโยบายที่สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อลดรายจ่ายโดยรวมของประเทศและประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพโดยเสียค่าใช้จ่าย 30 บาทต่อครั้ง และสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
จากผลการดำเนินงานในปี พ.ศ.2546 สามารถขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิได้ 45.4 ล้านคน ทำให้รัฐสามารถสร้างหลักประกันสุขภาพทุกรูปแบบแก่ประชาชนได้ร้อยละ 95.7 ของประชากรทั้งประเทศ ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพเท่าเทียมกันมากขึ้น และส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการรับบริการโดยเฉพาะคนยากจนและผู้ด้วยโอกาส ซึ่งบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้และสร้างความเสมอภาคในการใช้บริการของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดในด้านการบริการจัดการการบริหารการเงินและงบประมาณที่ได้รับไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ทำให้สถานพยาบาลจำนวนมากกำลังประสบกับภาวะวิกฤตทางการเงินและมีผลกระทบต่อการทำงานของบุคลากรและคุณภาพการให้บริการ ซึ่งอาจกระทบต่อความยั่งยืนของการดำเนินโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่สำคัญเร่งด่วนของรัฐที่เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ได้แก่
1. นโยบายการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้นำทรัพย์สินของภาครัฐและภาคเอกชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ อันจะเป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ สามารถนำทรัพย์สินดังกล่าวมาแปลงให้เป็นทุนเพื่อก่อให้เกิดกระบวนการสร้างงาน สร้างรายได้และกระตุ้นให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งจะทำให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
2. นโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน นอกจากนโยบายพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขและบรรเทาหนี้สินเกษตรกรอย่างเป็นระบบ ด้วยการให้สินเชื่อและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทำให้ครัวเรือนยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนมาตรการในระยะยาวนั้น รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดไปภายใน 6 ปี โดยเริ่มต้นให้ประชาชนลงทะเบียนคนจน เพื่อแก้ปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการทั่วประเทศ และมีผู้จดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 8,771,815 คน มีปัญหาซึ่งแยกเป็น 8 ประเภท ได้แก่ หนี้สินภาคประชาชน ที่ดินทำกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย นักเรียนนักศึกษาต้องการทำงาน การหลอกวง คนเร่ร่อน อาชีพผิดกฎหมาย และปัญหาอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 13,363,711 ปัญหา ซึ่งรัฐบาลจะได้นำไปกำหนดแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบยั่งยืน รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์หลักในการแก้ไขปัญหานี้ต่อไป

ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจรายภาค
จากการปฏิรูประบบราชการและการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อเป็นหน่วยงานเชิงยุทธศาสตร์ภาครัฐในระดับพื้นที่ ได้มีการแบ่งกลุ่มจังหวัดเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจรายภาค ซึ่งแบ่งกลุ่มจังหวัดเป็น 19 กลุ่ม ดังนี้
ภาคกลาง
1. ภาคกลางตอนบน กลุ่มที่ 1 กำหนดยุทธศาสตร์ฯ ให้เป็นเขตสร้างสรรค์และนำความรู้ด้านเทคโนโลยีและวัฒนธรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการเป็นศูนย์เชื่อมโยงการคมนาคมเพื่อกระจายสินค้าและบริการสู่ทุกภูมิภาค กลุ่มนี้มี 4 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และอ่างทอง
2. ภาคกลางตอนบน กลุ่มที่ 2 กำหนดยุทธศาสตร์ฯ ให้เป็นแหล่งผลิตและรวบรวมสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และเป็นศูนย์บริการการคมนาคมทางบกที่ได้มาตรฐาน กลุ่มนี้มี 4 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี และชัยนาท
3. ภาคกลางตอนล่าง กลุ่มที่ 1 กำหนดยุทธศาตร์ฯ โดยมุ่งเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมสู่ชายแดนด้านตะวันตกและนานาชาติ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กลุ่มนี้มี 4 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี
4. ภาคกลางตอนล่าง กลุ่มที่ 2 กำหนดยุทธศาสตร์ฯ ให้เป็นกลุ่มจังหวัดที่เป็นศูนย์การผลิตและแปรรูปสินค้าประมงและเกษตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญสู่และแปรรูปสินค้าประมงและเกษตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญสู่ภาคใต้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน กลุ่มนี้มี 4 จังหวัด ได้แก เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร
5. ภาคกลางตอนล่าง กลุ่มที่ 3 กำหนดยุทธศาสตร์ฯ ให้เป็นแหล่งรองรับการขยายตัวของเมืองหลวง และสนามบินสุวรรณภูมิ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและแพทย์แผนไทย ศูนย์กลางการส่งกำลังบำรุงเชื่อมโยงเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมสู่อินโดจีนและตลาดโลก กลุ่มนี้มี 5 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นครนายก สระแก้ว และปราจีนบุรี
ภาคตะวันออก
6. ภาคตะวันออก กำหนดยุทธศาสตร์ฯ ให้เป็นผู้นำการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลไม้ ควบคู่ไปกับการเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายของการท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ กลุ่มนี้มี 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคเหนือ
7. ภาคเหนือตอนบน กำหนดยุทธศาสตร์ฯ ไปเป็นประตูทองการค้าสู่โลก โดดเด่นวัฒนธรรมล้านนา น่าอยู่ทุกถิ่นที่ ภาคเหนือตอนบนมี 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน
8. ภาคเหนือตอนล่าง กลุ่มที่ 1 กำหนดยุทธศาสตร์ฯ โดยมุ่งเป็นศูนย์กลางบริการสี่แยกอินโดจีน กลุ่มนี้มี 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์
9. ภาคเหนือตอนล่าง กลุ่มที่ 2 กำหนดยุทธศาสตร์ฯ โดยมุ่งเป็นศูนย์ธุรกิจข้าวชั้นนำของประเทศไทย กลุ่มนี้มี 4 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร และพิจิตร
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
10. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กลุ่มที่ 2 กำหนดยุทธศาสตร์ฯ ให้เป็นแหล่งพำนักแห่งที่ 2 ของนักลงทุนและนักท่องเที่ยว กลุ่มนี้มี 4 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย และเลย
11. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กลุ่มที่ 2 กำหนดยุทธศาสตร์ฯ ให้เป็นสะพาน การค้าและการท่องเที่ยวอินโดจีน (Trade and Tour Bridge to Indochina and Beyond) กลุ่มนี้มี 4 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร สกลนคร นครพนม และกาฬสินธุ์
12. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กลุ่มที่ 3 กำหนดยุทธศาสตร์ฯ ให้เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน และการบริการในภูมิภาคสู่สากล (Regional Commerce-Investment and Services Center Forwards Internationa) กลุ่มนี้มี 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด
14. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง กลุ่มที่ 2 กำหนดยุทธศาสตร์ฯ ให้เป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มนี้มี 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร
ภาคใต้
15. ภาคใต้ตอนบน กลุ่มที่ 1 กำหนดยุทธศาสตร์ฯ โดยมุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงประเทศฝั่งอันดามัน-อ่าวไทย มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางส่งออกผลไม้ และมุ่งสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในดินแดนแห่งทะเลไร้มลพิษที่ยั่งยืน กลุ่มนี้มี 3 จังหวัด ได้แก่ สุราษฏร์ธานี ชุมพร และระนอง
16. ภาคใต้ตอนบน กลุ่มที่ 2 กำหนดยุทธศาสตร์ฯ ให้เป็นศูนย์กลางการผลิต การตลาดภาคเกษตรมุ่งสู่สากล เป็นเอาแห่งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม พร้อมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน (Green Gold, Green Tourism) กลุ่มนี้มี 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ตรัง และพัทลุง
17. ภาคใต้ตอนบน กลุ่มที่ 3 หรือกลุ่มจังหวัดสามเหลี่ยมอันดามัน กำหนดยุทธศาสตร์ฯ ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก และเป็นประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจเอเชียใต้ กลุ่มนี้มี 3 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ พังงา และภูเก็ต
18. ภาคใต้ตอนล่าง กลุ่มที่1 กำหนดยุทธศาสตร์ฯ ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลการศึกษานานาชาติ การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านและโลกมุสลิม บนพื้นฐานแห่งคุณภาพชีวิตที่ดี และดินแดนแห่งสันติสุข กลุ่มนี้มี 3 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
19. ภาคใต้ตอนล่าง กลุ่มที่ 2 กำหนดยุทธศาสตร์ฯ ให้เป็นศูนย์กลางยางพาราโลก เมืองท่าสองทะเล เมืองธุรกิจการค้า การท่องเที่ยว และการศึกษาของภาคใต้ กลุ่มนี้มี 2 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล
ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจรายภาคภายใต้การบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ จะช่วยให้เกิดประโยชน์สุข และนำความมั่งคั่งมั่นคงมาสู่ประชาชนและประเทศชาติต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น